วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กุ้งตัวตลก

กุ้งตัวตลก
 



           กุ้งตัวตลก  มีชื่อเรียกว่า   Harlequin Shrimp  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Hymenocera Picta Dana, 1852 เป็น กุ้งทะเลขนาดเล็ก  มักพบอยู่เป็นคู่อาศัยอยู่ตามโพรงหินซอกหินที่ค่อนข้างมืดในแนวปะการัง  มีลำตัวสีขาวลวดลายสวยงาม มีสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละถิ่นอาศัย  กุ้งตัวตลกที่พบในมหาสมุทรแถบ  Indo-West Pacific   มีลายจุดแต้มโทนสีฟ้าหรือสีน้ำเงินบริเวณขอบด้านนอก สำหรับกุ้งตัวตลกที่พบบริเวณ มหาสมุทร Central-EasternPacific โดย เฉพาะที่เกาะฮาวาย มีลายจุดแต้มโทนสีม่วงหรือสีม่วงอมแดง  ทั้งสองชนิดจะมีสีเหลือง  สีเหลืองอมส้มหรือสีน้ำตาลอยู่ภายในลายจุด   และมีลวดลายสีน้ำเงิน  สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาลที่ก้ามและบริเวณส่วนหัว ลำตัวดูบึกบึน สั้นและกว้าง มีกรีเล็กและยื่นไปไม่ยาวกว่าตา มีขาทั้งหมด 5 คู่  (Pereiopod) ขาเดิน 2 คู่แรก เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เป็นเขี้ยว (Claws)  สำหรับคุ้ยหรือตะล่อมอาหาร และเปลี่ยนเป็นอาวุธป้องกันตัวเอง  และมีขาเดินจำนวน 3 คู่ ขนาดความยาวลำตัว 5-7 เซนติเมตร


          อาหารของกุ้งตัวตลก ได้แก่ เม่นทะเล (sea urchin) ดาวเปราะ (brittle sea stars) ดาวทะเล (sea star) ชนิด Linckiasp.    และ Nardoa sp.   โดยเฉพาะดาวมงกุฎหนาม   (crown-of-thorn sea star, Acanthaster planci)   ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินปะการังเป็นอาหาร


           ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยอง       ทำการเพาะและอนุบาลูกกุ้งตัวตลกได้ประสบความสำเร็จครั้งแรกเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553  มีอัตราการรอดตาย  15-25%  กุ้งตัวตลกชุดแรกที่เพาะสำเร็จ เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์และเริ่มวางไข่ เมื่ออายุได้ 5 เดือน   ปัจจุบันลูกกุ้งตัวตลกจากแม่พันธุ์ที่เพาะได้เอง อยู่ในรุ่่น F1 การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งตัวตลก เลี้ยงในตู้กระจก  ขนาด 12*24*15 นิ้ว ใส่น้ำ 30 ลิตร  ให้ดาวทะเลเป็นอาหารวันละ 1 มื้อ  แม่กุ้งจะวางไข่ติดกับบริเวณขาว่ายน้ำ ไข่ใช้เวลาพัฒนา 15-20 วัน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงและฟักออกจากไข่เป็นระยะ Zoea ทำการรวบรวมลูกกุ้งจากตู้พ่อแม่พันธุ์ไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ ขนาดความจุ 1.5 ลูกบาศก์เมตร ใส่น้ำ 100 ลิตร และทดลองอนุบาลในถังพลาสติกความจุ 200ลิตร


          ลูกกุ้งตัวตลกวัยอ่อนที่ฟักออกเป็นตัวประมาณ  900-2000 ตัว/ครั้ง  ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากระยะซูเอีย (Zoea)  ถึงระยะลงเกาะหรือระยะคว่ำ (Postlarva)  ใช้เวลา 36-56 วัน  ระยะเวลาที่ลูกกุ้งเริ่มลงเกาะจนหมดชุดใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน  อุณหภูมิน้ำมีค่าประมาณ  28 - 30 องศาเซลเซียส ความเค็ม  30-33  ส่วนในพัน  อนุบาลลูกกุ้งด้วยโรติเฟอร์และอาร์ทีเมียแรกฟัก   ใส่แพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารโรติเฟอร์    เมื่อลูกกุ้งลงเกาะจะให้กินดาวทะเลเป็นอาหาร  โดยหักเป็นชิ้นเล็กๆ  ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร  ให้วันละ 1 มื้อ ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำและดูดตะกอนทุกวัน วันละ50% และเปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งหมดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง กระตุ้นให้ลูกกุ้งลอกคราบจะได้เจริญเติบโตเร็วขึ้น


       จากความสำเร็จในการเพาะพันธุ์กุ้งการ์ตูน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยอง ได้ให้ความรู้กับนักศึกษา หน่วยงานราชการและประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน   โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อมาที่สำนักงานหรือผู้รับผิดชอบการเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูน    ทั้งนี้ศูนย์ฯได้ทดลองศึกษาวิธีการอนุบาลลูกกุ้งการ์ตูนเพื่อให้ได้อัตราการรอดตายที่เพิ่มขึ้นและทำอาหารสำเร็จรูปทดแทนดาวทะเล  ในส่วนของการอนุรักษ์อยู่ในระหว่างการประสานกับหน่วยงานต่างๆ  เพื่อจัดทำโครงการปล่อยพันธุ์กุ้งการ์ตูนคืนแนวปะการัง      เนื่องจากกุ้งการ์ตูนมีบทบาทความสำคัญต่อแนวปะการังและมีจำนวนลดน้อยลงมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น