การเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูน
กุ้งการ์ตูน มีชื่อสามัญเรียกว่า Harlequin Shrimp (USA) และ Painted Harlequin Shrimp (UK) (sealifebase, 2011) และมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hymenocera picta ( Dana, 1852) ในอดีตชื่อที่เรียกกุ้งการ์ตูนอีกชื่อหนึ่งคือ Hymenocera elegan (Heller, 1861) แต่ปัจจุบันชื่อที่ยอมรับและใช้เรียกกุ้งการ์ตูนคือ H. picta ( sealifebase, 2011) กุ้งการ์ตูนเป็นกุ้งทะเลขนาดเล็ก มักพบอยู่เป็นคู่อาศัยอยู่ตามโพรงหินหรือซอกหินที่ค่อนข้างมืดในแนวปะการัง ลำตัวสีขาว มีลวดลายสวยงาม มีสีสันที่แตกต่างกันในแต่ละถิ่นอาศัย กุ้งการ์ตูนที่พบในมหาสมุทรแถบIndo-West Pacific มีลายจุดแต้มโทนสีฟ้าหรือสีน้ำเงินบริเวณขอบด้านนอก สำหรับกุ้งการ์ตูนที่พบบริเวณมหาสมุทร Central-Eastern Pacific โดยเฉพาะที่เกาะฮาวาย มีลายจุดแต้มโทนสีม่วงหรือสีม่วงอมแดง ทั้งสองชนิดจะมีสีเหลือง สีเหลืองอมส้มหรือสีน้ำตาลอยู่ภายในลายจุดและมีลวดลายสีน้ำเงิน สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาลที่ก้ามและบริเวณส่วนหัว ลำตัวสั้นและกว้าง มีกรีเล็กและยื่นไปไม่ยาวกว่าตา มีขาทั้งหมด 5 คู่ (Pereiopod) ขาเดิน2 คู่แรก เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เป็นเขี้ยว (Claws) สำหรับคุ้ยหรือตะล่อมอาหาร และเปลี่ยนเป็นอาวุธป้องกันตัวเอง และมีขาเดินจำนวน 3 คู่ มีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว
กุ้งการ์ตูนอยู่ในกลุ่ม Caridea ซึ่งเป็นกุ้งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับกุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii ) จะมีการวางไข่และเกาะติดบริเวณขาว่ายน้ำของกุ้งเพศเมีย ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่จะเป็นระยะซูเอี้ย ( ZOEA) มีลักษณะห้อยหัวลงและมีวิวัฒนาการโดยอาศัยการลอกคราบ จนถึงระยะกุ้งคว่ำหรือกุ้งวัยรุ่น (ประจวบ, 2527) จากการศึกษาของ Kraul( 1999, อ้างตาม Lin, 2005) ลูกกุ้งการ์ตูนวัยอ่อนใช้เวลา 28 -56 วัน จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากระยะซูเอี้ย (Zoea) เป็นลูกกุ้งระยะคว่ำ (Postlarva)
ในประเทศไทยกุ้งการ์ตูนพบอาศัยอยู่ตามกองหินใต้น้ำหลายๆแห่งในทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต โดยแหล่งที่พบได้แก่ กองหินริเชลิว ใกล้ๆกับหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา บริเวณเกาะห้าใหญ่ เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และที่หินม่วง กองหินจมใกล้ๆกับหินแดง ในเขตจังหวัดกระบี่ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยมาก ด้วยราคาที่แพงและตลาดมีความต้องการสูง จึงถูกจับมาขายในตลาดกุ้งสวยงามเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน
1. จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งโครงการเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูนสวยงาม
1.1 เริ่มเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ได้อย่างไร
โครงการเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูน เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นกุ้งสวยงามที่กรมประมงยังไม่ได้ทำการศึกษาเรื่องการเพาะและอนุบาลในโรงเพาะฟัก จึงต้องการวิจัยและพัฒนาเรื่องการเพาะเลี้ยงและอนุบาล เพื่อเพิ่มจำนวนในการผลิตและเผยแพร่ส่งเสริมเป็นความรู้ให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจเลี้ยงกุ้งชนิดนี้
1.2. ทำไมถึงเลือกเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้
เนื่องจากเป็นกุ้งที่มีลวดลายสวยงาม มีรูปร่างแปลกตา มีผู้สนใจซื้อไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และราคาค่อนข้างแพง จึงถูกจับมาจำหน่ายในตลาดกุ้งสวยงามเป็นจำนวนมาก ทำให้ในธรรมชาติมีจำนวนลดลงมาก ดังนั้นการเพาะเลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มจำนวนและชดเชยกุ้งที่จะถูกจับขึ้นมา รวมทั้งการอนุรักษ์สายพันธุ์กุ้งในธรรมชาติและการปล่อยกุ้งคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ในทะเลของประเทศไทยมีกุ้งชนิดนี้อยู่ด้วย สำหรับประชาชนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็นกุ้งชนิดนี้ จากการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งระยองได้นำกุ้งการ์ตูนไปแสดงในงานประมงแห่งชาติและงานเกษตรแห่งชาติ พบว่า ประชาชนทั่วไปและเด็กๆให้ความสนใจเป็นอย่างมากและส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่เคยรู้จัดกุ้งชนิดนี้
1.3. ระยะเวลาในการจัดตั้งโครงการ
เป็นงานที่ไม่ใช่งานประจำ ไม่มีระยะเวลากำหนดแต่ดำเนินการควบคู่ไปกับงานประจำ
2. วิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งการ์ตูน
2.1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูน
พ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูนซื้อมาจากตลาดนัดจตุจักร เป็นกุ้งจากทะเลฝั่งอันดามัน ทำการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูนในตู้กระจก ขนาด 12*24*15 นิ้ว ใส่น้ำปริมาตร 40 ลิตร โดยใส่พ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูน จำนวน 1 คู่ต่อตู้
2.2 อาหารและการให้อาหารพ่อแม่พันธุ์
อาหารของกุ้งการ์ตูน ได้แก่ เม่นทะเล (sea urchin) ดาวเปราะ (brittle sea stars) ดาวทะเล (sea star , Linckia sp. , Nardoa sp. ) ดาวมงกุฎหนาม ( crown- of- thorn sea star ,Acanthaster planci) ซึ่งได้มาจากเครื่องมืออวนปูของชาวประมงพื้นบ้าน โดยอาหารที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นดาวทะเล ( Linckia sp.) ระยางค์มีความยาวประมาณ 5-10 นิ้ว โดยหักครึ่งหนึ่งของความยาวระยางค์ เพื่อให้ดาวทะเลงอกออกมาใหม่ แล้วตัดเป็นชิ้นความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ให้กิน 1 ชิ้นต่อวันต่อพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูน 1 คู่
2.3 การจำแนกเพศโดยสังเกตจากลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน ดังนี้
เพศผู้ มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย สีสันเข้มและมีสีน้ำเงินของลวดลายชัดเจนกว่าเพศเมีย ลำตัวเล็กและท้องแคบกว่าเพศเมีย เพศเมีย มีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ สีสันอ่อนกว่าเพศผู้ แต่มีลวดลายสีเหลืองหรือสีน้ำตาลมากกว่าเพศผู้ ส่วนท้องกว้างกว่าเพศผู้อย่างชัดเจน เนื่องจากเพศเมียจะวางไข่ติดกับรยางค์ขาว่ายน้ำบริเวณหน้าท้อง
2.4 การจัดการตู้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูนและการเตรียมน้ำ
ดูดตะกอนและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน วันละประมาณ 20-25 % สำหรับวันจันทร์และวันพฤหัสบดีจะเปลี่ยนถ่ายน้ำ 50% และนำพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูนออกใส่ภาชนะอื่นเพื่อทำความสะอาดตู้ทุก 2 อาทิตย์ การเตรียมน้ำทะเลสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งการ์ตูน มีความเค็มระหว่าง 30-33 ppt ฆ่าเชื้อโดยใส่คลอรีน 15 กรัมต่อน้ำทะเล 1 ลูกบาศก์เมตร ให้อากาศอย่างน้อย 3 วัน ตรวจสอบว่า มีคลอรีนตกค้างหรือไม่ สูบน้ำไปเก็บไว้ในบ่อพักน้ำ เก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์คุณน้ำก่อนนำไปใช้
2.5 การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
เลือกกุ้งเพศผู้และเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ มีระยางค์ครบถ้วน มีสีสันสดใส มีลวดลายสวยงามและเห็นลายหัวใจบริเวณส่วนหัวชัดเจน
2.7 การเพาะพันธุ์และการรวบรวมลูกกุ้งการ์ตูนวัยอ่อน
ใช้ถังพลาสติกสีขาว ขนาดความจุ 200 ลิตร และบางครั้งจะนำไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ความจุ 1.5 ลูกบาศก์เมตร
2.8 ขนาดของถังที่ใช้ในการอนุบาลลูกกุ้งการ์ตูน
ใช้ถังพลาสติกสีขาว ขนาดความจุ 200 ลิตร และบางครั้งจะนำไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ความจุ 1.5 ลูกบาศก์เมตร
2.9 การรวบรวมลูกกุ้งวัยอ่อน
หลังจากกุ้งการ์ตูนเพศเมีย มีไข่ที่บริเวณหน้าท้อง ไข่จะใช้เวลาสำหรับการพัฒนาประมาณ 15-20 วัน ไข่จะพัฒนาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม จากนั้นจะฟักเป็นตัวและล่องลอยอยู่ในน้ำ ทำการเก็บรวบรวมลูกกุ้งวัยอ่อนจากตู้พ่อแม่พันธุ์ไปอนุบาล ลูกกุ้งการ์ตูนวัยอ่อนที่ฟักออกเป็นตัวประมาณ 900-3,000 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดแม่พันธุ์
2.9 วิธีการอนุบาลลูกกุ้งวัยอ่อนตั้งแต่แรกฟักจนถึงระยะคว่ำ ลูกกุ้งวัยอ่อนแรกฟักจะเรียกว่า ระยะซูเอีย (Zoea) มีพัฒนาการแต่ละระยะทั้งหมด 12 ระยะ (Zoea1-Zoea12) และใช้เวลาพัฒนาถึงระยะลงเกาะหรือระยะคว่ำ (Postlarva) อยู่ในช่วงเวลาประมาณ 36-56 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมเช่น แสงแดดและอุณหภูมิ เป็นต้น ระยะเวลาที่ลูกกุ้งเริ่มลงเกาะจนหมดชุดใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน อุณหภูมิน้ำประมาณ 30 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30-33 ส่วนในพัน ดูดตะกอนและทำความสะอาดถังอนุบาล อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 25 % และย้ายไปถังใหม่เมื่อก้นถังเริ่มสกปรก
ตารางการให้อาหารลูกกุ้งการ์ตูนวัยอ่อน
เมื่อลูกกุ้งพัฒนาถึงระยะลงเกาะ(Postlarva) จะให้กินดาวทะเลเป็นอาหาร โดยหักเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 เซ็นติเมตร ให้วันละ 1 มื้อ ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำและดูดตะกอนทุกวัน วันละ 50 % และเปลี่ยนถ่ายน้ำทั้งหมดอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกกุ้งลอกคราบจะได้เจริญเติบโตเร็วขึ้น
3. การจัดการระบบต่างๆ
3.1 งบประมาณการลงทุน พ่อแม่พันธุ์ คู่ละ 1,500 – 2,500 บาท ค่า Rotifer sp. ลิตรละ 45 บาท แพลงก์ตอนพืช ลิตรละ 45 บาท ไข่ไรน้ำเค็ม (Artemia sp. ) กระป๋องละประมาณ 800 บาท ถังขาวขนาดความจุ 200 ลิตร ใบละ 850 บาท ตู้กระจกสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และลูกกุ้งที่ลงเกาะ ขนาด 12*24*15 นิ้ว ตู้ละ 600 บาท ค่าดาวทะเล ขึ้นอยู่กับขนาด ตัวละ 20-30 บาท อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ หัวทราย สายแอร์ สายยางดูดตะกอน ไดโว่สูบน้ำ ฟองน้ำเช็ดตู้ กะละมัง ขันน้ำ ต้นทุนการผลิตขึ้นอยู่กับจำนวนพ่อแม่พันธุ์และปริมาณการผลิต |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น